วันพฤหัสบดีที่ 27 พฤศจิกายน พ.ศ. 2557

ขลุ่ยเพียงออ

ขลุ่ยเพียงออ เป็นเครื่องดนตรีไทย ประเภทเครื่องเป่าชนิดไม่มีลิ้น ทำจากไม้รวกปล้องยาวๆ ด้านหน้าเจาะรูเรียงกัน สำหรับปิดเปิดเพื่อเปลี่ยนเสียง ตรงที่เป่าไม่มีลิ้นแต่มีดาก ซึ่งทำด้วยไม้อุดเหลาเป็นท่อนกลมๆยาวประมาณ ๒ นิ้ว สอดลงไปอุดที่ปากของขลุ่ย แล้วบากด้านหนึ่งของดากเป็นช่องสี่เหลี่ยมเล็กๆ เราเรียกว่า ปากนกแก้ว เพื่อให้ลมส่วนหนึ่งผ่านเข้าออกทำให้เกิดเสียงขลุ่ยลมอีกส่วนจะวิ่งเข้าไปปลายขลุ่ยประกอบกับนิ้วที่ปิดเปิดบังคับเสียงเกิดเป็นเสียงสูงต่ำตามต้องการได้ปากนกแก้วลงมาเจาะ ๑ รู เรียกว่า รูนิ้วค้ำ เวลาเป่าต้องใช้หัวแม่มือค้ำปิดเปิดที่รูนี้ บางเลาด้านขวาเจาะเป็นรูเยื่อ ปลายเลาขลุ่ยมีรู ๔ รู เจาะตรงกันข้ามแต่เหลื่อมกันเล็กน้อย ใช้สำหรับร้อยเชือกแขวนเก็บหรือคล้องมือจึงเรียกว่า รูร้อยเชือก รวมขลุ่ยเลาหนึ่งมี ๑๔ รูด้วยกัน

รูปร่างของขลุ่ยเมือพิจารณาแล้วจะเป็นเครื่องดนตรีที่เก่าแก่ที่สุดชนิดหนึ่ง จากหลักฐานที่พบขลุ่ยในหีบศพภรรยาเจ้าเมืองไทยที่ริมฝั่งแม่น้ำฮวงเหอ ซึ่งมีหลักฐานจารึกศักราชไว้ไม่ต่ำกว่า ๒,๐๐๐ ปี ปัจจุบันขลุ่ยมีราคาสูง เนื่องจากไม้รวกชนิดที่ทำขลุ่ยมีน้อยลงและใช้เวลาทำมากจึงใช้วัตถุอื่นมาเจาะรูซึ่งรวดเร็วกว่า เช่น ไม้เนื้อแข็ง ไม้ไผ่ ไม้ชิงชัน ไม้พยุง บางครั้งอาจทำจากท่อพลาสติกแต่คุณภาพเสียงไม่ดีเท่าขลุ่ยไม้ ขลุ่ยที่มีเสียงไพเราะมากส่วนใหญ่จะเป็นขลุ่ยผิวไม้แห้งสนิท

ขลุ่ยใช้เป่าในวงเครื่องสายไทย วงมโหรี และในวงปี่พาทย์ไม้นวม วงปี่พาทย์ดึกดำบรรพ์

การเทียบเสียงขลุ่ยเพียงออกับระดับเสียงดนตรีสากล

เสียงโดของขลุ่ยเพียงออ เทียบได้เท่ากับ เสียง ทีแฟล็ต ในระดับเสียงทางสากล ปัจจุบันได้มีการทำขลุ่ยเพียงออที่มีระดับเสียงเท่ากับระดับเสียงสากล เรียกว่าขลุ่ยเพียงออ ออร์แกนบ้าง หรือขลุ่ยกรวดบ้าง แต่ในทางดนตรีสากลจะเรียกเป็นขลุ่ยไทยหมด จะเอาระดับเสียงมาเป็นตัวแยกขนาดเช่น ขลุ่ยคีย์ C, ขลุ่ยคีย์ D, ขลุ่ยคีย์Bb, ขลุ่ยคีย์ G เป็นต้น

ลักษณะขลุ่ยโดยทั่วไป


- เลาขลุ่ย คือ ตัวขลุ่ย มีขนาดแตกต่างกันไปตามชนิดของขลุ่ย มักนิยมประดิษฐ์ลวดลายต่าง ๆ ลงบนตัวขลุ่ย เช่น ลายดอกพิกุล ลายหิน และลายลูกระนาด เป็นต้น  ถ้าเป็นขลุ่ยไม้ไผ่ นิยมจะทำลวดลายลงบนเลาขลุ่ย แต่ถ้าเป็นไม้เนื้อแข็ง เช่น ไม้ชิงชัน ไม้พยุง ไม้งิ้วดำ ฯลฯ จะไม่นิยมทำลายลงบนเลาขลุ่ย แต่อาจจะมีการลงรัก ประกอบมุก ประกอบงา แทน 
     - ดาก คือ ไม้อุดปากขลุ่ย นิยมใช้ในไม้สักทอง เหลากลมให้คับแน่นกับร่องภายในของปากขลุ่ย ฝานให้เป็นช่องว่าง ลาดเอียงตลอดชิ้นดาก ให้เป่าลมผ่านไปได้
     - รูเป่า เป็นรูสำหรับเป่าลมเข้าไป
     - รูปากนกแก้ว เป็นรูที่เจาะร่องรับลม จากปลายดากภายในขลุ่ย อยู่ด้านเดียวกับรูเป่า อยู่สุดปลายดากพอดี เป็นรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้า รูปากนกแก้วนี้ทำให้เกิดเสียง เทียบได้กับลิ้นของขลุ่ย
     - รูเยื่อ เป็นรูสำหรับปิดวัสดุที่ทำให้เสียงสั่นพริ้ว มักใช้เยื่อไม้ไผ่ หรือเยื่อหัวหอมปิด อยู่ด้านขวามือ * ในปัจจุบัน หาขลุ่ยที่มีรูเยื่อไม่ค่อยได้แล้ว
     - รูค้ำ หรือรูนิ้วค้ำ เป็นรูสำหรับให้นิ้วหัวแม่มือปิด เพื่อบังคับเสียง และประคองเลาขลุ่ยขณะเป่า อยู่ด้านล่างเลาขลุ่ย ต่อจากรูปากนกแก้วไปทางปลายเลาขลุ่ย
     - รูบังคับเสียง เป็นรูที่เจาะเรียงอยู่ด้านบนของเลาขลุ่ย มีอยู่ ๗ รู ด้วยกัน
     - รูร้อยเชือก มี ๔ รู หรือ ๒ รูก็ได้ อยู่ทางส่วนปลายของเลาขลุ่ย โดยการเจาะทะลุบน-ล่าง และ ซ้าย-ขวา ให้เยื้องกันในแต่ละคู่  ช่างบางคนได้กล่าวไว้ว่า ความจริงจุดประสงค์หลักไม่ได้ไว้ร้อยเชือก ที่จริง ทำเพื่อให้เสียงของขลุ่ยได้ที่นั่นเอง

ลักษณะของขลุ่ยที่ดี

  ดังที่ได้กล่าวมาแล้วว่าขลุ่ยที่ดี ควรทำมาจากไม้ไผ่ นอกจากนี้ควรพิจารณาสิ่งอื่น ๆ ประกอบกันด้วย เสียงขลุ่ยที่จะใช้ ได้ต้องเสียงไม่เพี้ยนตั้งแต่เสียงต่ำสุด ไปจนถึงสูงสุด คือทุกเสียงจะต้องห่างกัน 1 เสียง ตามระบบเสียงของไทยเสียงคู่แปดจะต้องเท่ากัน เสียงเลียนหรือนิ้วควงจะต้องตรงกัน เสียงแท้ เสียงต้องโปร่งใส มีแก้วเสียง ไม่แหบพร่าหรือแตก ถ้าเล่นในวงดนตรีที่มีเครื่องดนตรีที่เสียงตายตัว เช่น ระนาดหรือฆ้องจะต้องเลือกขลุ่ยที่มีระดับเสียงเข้ากับ เครื่องดนตรีเหล่านั้น ลม ขลุ่ยที่ดีจะต้องกินลมน้อย ไม่หนักแรงเวลาเป่า ซึ่งจะทำให้สามารถระบายลมได้ง่าย
                 ลักษณะของไม้ที่นำมาทำ จะต้องเป็นไม้ที่แก่จัดหรือแห้งสนิท โดยสังเกตจากเสี้ยนของไม้ ควรเป็นเสี้ยนละเอียดที่มีสีน้ำตาล แก่ค่อนข้างดำตาไม้เล็กๆ เนื้อไม่หนาหรือบางเกินไปคือต้องเหมาะสมกับประเภทของขลุ่ยว่าขลุ่ยอะไรในกรณีที่ไม้ไผ่แก่จัดหรือไม่แห้งสนิทเมื่อทำแล้วในระยะหลังจะแตกร้าวได้ง่าย เสียงจะเปลี่ยนไป และมอดจะกัดกินเสียหาย ดาก ควรทำจากไม้สักทอง ไม่มีขุยหรือขนแมวขวางทางลม การใส่ดากจะต้องไม่ชิดหรือห่างไม้ไผ่ ซึ่งเป็น ตัวเลาขลุ่ยจนเกินไป เพราะถ้าใส่ชิดจะทำให้เสียงทึบ ตี้อ ถ้าใส่ห่างจะทำให้เสียง โว่ง กินลมมาก นอกจากนี้การหยอดขี้ผึ้งที่ดากต้องทำอย่างประณีต ละลายขี้ผึ้งให้ไหลเข้าไป อุดช่องว่างที่ไม่ต้องการรอบ ๆ ดาก ให้เต็มเพื่อไม่ให้ลมรั่วออกรูต่าง ๆ บนเลาขลุ่ย จะต้องเจาะอย่างประณีต ขนาดความกว้าง ของรูต้องเหมาะกับขนาดของไม้ไม่กว้างเกินไป ขลุ่ยในสมัยโบราณ รูต่าง ๆ ที่นิ้วปิดจะต้องคว้านด้านในให้เว้า คือ ผิวด้านในรูจะกว้างกว่าผิวด้านนอก ซึ่งจะทำให้เสียงของขลุ่ย กังวานดียิ่งขั้น แต่ในปัจจุบันไม่ได้คว้านภายในรูเหมือนแต่ก่อนแล้วซึ่งอาจจะเนื่อง มาจากความเอาใจใส่ของคนที่ทำขลุ่ยน้อยลง ทำให้เห็นแต่เพียงว่าภายนอกเหมือนขลุ่ยเท่านั้นลักษณะประกอบอื่น ๆ เช่นสีของไม้สวย ไม่มีตำหนิ ขีดข่วน ไม่คดงอ เทลายได้สวยละเอียด แต่สิ่งเหล่านี้ไม่มีผล กระทบต่อเสียงของขลุ่ยแต่อย่างใด เพียงพิจารณาเป็นส่วนประกอบเพื่อเลือกให้ได้ขลุ่ยที่ถูกใจเท่านั้น

ดังที่กล่าวมาแล้วว่าขลุ่ยที่ดีควรทำมาจากไม้ไผ่ นอกจากนี้ก็ควรพิจารณาสิ่งอื่นๆประกอบไปด้วย
          1.เสียง ขลุ่ยที่ใช้ได้ดีเสียงต้องไม่เพี้ยนตั้งแต่เสียงต่ำสุดไปจนถึงเสียงสูงสุด คือทุกเสียงต้องห่างกันหนึ่งเสียงตามระบบของเสียงไทย เสียงคู่แปดจะต้องเท่ากันหรือเสียงเลียนเสียงจะต้องเท่ากัน หรือนิ้วควงจะต้องตรงกัน เสียงแท้เสียงต้องโปร่งใสมีแก้วเสียงไม่แหนพร่าหรือแตก ถ้านำไปเล่นกับเครื่องดนตรีที่มีเสียงตายตัว เช่น ระนาดหรือฆ้องวงจะต้องเลือกขลุ่ยที่มีระดับเสียงเข้ากับเครื่องดนตรีเหล่านั้น
          2.ลม ขลุ่ยที่ดีต้องกินลมน้อยไม่หนักแรงเวลาเป่าซึ่งสามารถระบายลมได้ง่าย
          3.ลักษณะของไม้ที่นำมาทำ จะต้องเป็นไม้ที่แก่จัดหรือแห้งสนิท โดยสังเกตจากเสี้ยนของไม้ควรเป็นเสี้ยนละเอียดที่มีสีน้ำตาลแก่ค่อนข้างดำ ตาไม้เล็กๆเนื้อไม่หนาหรือบางจนเกินไป คือต้องเหมาะสมกับประเภทของขลุ่ยว่าเป็นขลุ่ยอะไร ในกรณีที่เป็นไม้ไผ่ถ้าไม้ไม่แก่จัดหรือไม่แห้งสนิท เมื่อนำมาทำเป็นขลุ่ยแล้วต่อไปอาจแตกร้าวได้ง่าย เสียงจะเปลี่ยนไป และมอดจะกินได้ง่าย
          4.ดาก ควรทำจากไม้สักทอง เพราะไม่มีขุยหรือขนแมวขวางทางลม การใส่ดากต้องไม่ชิดหรือห่างขอบไม้ไผ่จนเกินไปเพราะถ้าชิดจะทำให้เสียงทึบ ตื้อ ถ้าใส่ห่างจะทำให้เสียงโว่งกินลมมาก
          5.รูต่างๆบนเลาขลุ่ย จะต้องเจาะอย่างประณีตขนาดความกว้างของรูต้องเหมาะกับขนาดของไม้ไผ่ไม่กว้างเกินไป
          ขลุ่ยในสมัยก่อนรูต่างๆ ที่นิ้วปิดจะต้องกว้านด้านในให้เว้า คือผิวด้านในรูจะกว้างกว่าผิวด้านนอก แต่ปัจจุบันไม่ได้กว้านภายในรูเหมือนแต่ก่อนแล้ว ซึ่งอาจจะเนื่องมาจากคนทำขลุ่ย ต้องผลิตขลุ่ยคราวละมากๆ ทำให้ละเลยในส่วนนี้ไป
          6.ควรเลือกขลุ่ยที่มีขนาดพอเหมาะกับนิ้วของผู้เป่า กล่าวคือ ถ้าผู้เป่ามีนิ้วมือเล็กหรือบอบบางก็ควรเลือกใช้ขลุ่ยเลาเล็ก ถ้าผู้เป่ามีมืออวบอ้วน ก็ควรเลือกใช้ขลุ่ยขนาดใหญ่พอเหมาะ
          7.ลักษณะประกอบอื่นๆ เช่น สีผิวของไม้สวยงาม ไม่มีตำหนิ ขีดข่วน เทลายได้สวยละเอียด แต่สิ่งเหล่านี้ก็ไม่ได้มีผลกระทบกับเสียงขลุ่ยแต่อย่างใด เพียงพิจารณาเพื่อเลือกให้ได้ขลุ่ยที่ถูกใจเท่านั้น

การรักษาขลุ่ย 

         ขลุ่ยถ้าทิ้งไว้นาน ๆ จะแห้ง ดากจะหดตัวลง ทำให้เป่าเสียงไม่ใส การที่จะให้ขลุ่ยเสียงดีพระยาภูมีเสวินได้ให้คำแนะนำว่าให้นำขลุ่ยแช่น้ำผึ้งให้
ท่วมปากนกแก้ว น้ำผึ้งจะช่วยให้ขลุ่ยชุ่มอยู่เสมอและขยายตัว ไม่มีช่องที่ลมจะรั่วได้ หรืออีกวิธีหนึ่งทำโดย นำขลุ่ยไปแช่ในน้ำตาลสดหรือน้ำตาลเมาหลาย ๆ วัน จะทำให้เนื้อได้อยู่ตัว มอดไม่รบกวน นอกจากนี้ควรระวังด้านอื่น ๆ คืออย่าให้ถูกความร้อนนาน ๆ ไม่ควรเอาไม้หรือวัสดุอื่นแหย่เข้าไปใน ปากนกแก้ว เพราะอาจทำให้แง่ของดากภายในบิ่น เสียงจะเสียไปได้ขลุ่ยเป็นเครื่องดนตรีที่ต้องใช้ปากเป่าโดยตรง ฉะนั้นการรักษาความสะอาดจึงเป็นเรื่องที่สำคัญ โดยมีวิธีการบำรุงรักษาดังนี้ 
            1.ก่อนหรือหลังเป่าขลุ่ยควรทำความสะอาดโดยการขัดเช็ดทุกครั้ง แต่ห้ามนำไปล้างในอ่างน้ำ หรือตากแสงแดดโดยตรง เพราะจะทำให้เกิดการยืดหรืดหดตัวได้ อันเป็นสาเหตุทำให้เสียงขลุ่ยเปลี่ยนไป ควรใช้แอลกอฮอล์เช็ดเพื่อฆ่าเชื้อบริเวณที่เป่าด้วย
            2.อย่าใช้ขลุ่ยร่วมกับผู้อื่น เพราะอาจเป็นแหล่งแพร่เชื้อได้
            3.อย่าให้ตกหล่น เพราะขลุ่ยนี้ทำด้วยไม้หรือพลาสติกอาจแตกหักได้
            4.ถ้าไม่มีความรู้จริงๆ อย่าไปตกแต่งรูขลุ่ยเพราะจะทำให้เสียงเพี้ยนได้
            5.หลังการใช้ควรเก็บใส่ถุงให้เรียบร้อยเพื่อป้องกันแมลงหรือสัตว์เล็กๆเข้าไปอาศัย

วิธีเป่าขลุ่ยเพียงออ 

         ให้เผยอริมฝีปากด้านบนและล่างจรดลงบนรูปากเป่า จัดเลาขลุ่ยให้ตั้งได้มุมประมาณ ๔๕ องศา กับลำตัวโดยทอดแขนไว้ข้างลำตัวพองาม(ไม่กางศอกมากจนเกินไป)เป่าลมให้เหมาะสมไม่เบาและแรงจนเกินไป

ท่านั่งเป่าขลุ่ยเพียงออ

          การเล่นเครื่องดนตรีไทยทุกชนิด นักดนตรีต้องสำรวมกิริยามารยาทปฏิบัติให้เรียบร้อย ให้ความเคารพต่อครูบาอาจารย์
เครื่องดนตรี ผู้ฟัง ตลอดจนนักดนตรีด้วยกันเอง การนั่งเป่าขลุ่ยต้องนั่งตัวตรงเพื่อให้ลมเดินสะดวก ไม่นั่งก้มหน้า
ถ้านั่งกับพื้นควรนั่งพับเพียบ



ท่าจับขลุ่ยเพียงออ 
     การจับขลุ่ยแบบไทยโดยประเพณีนิยมมาแต่โบราณจะจับเอามือขวาอยู่ข้างบนมือซ้าย(แต่ถ้าจับแบบสากลนิยมจับเอามือซ้ายไว้ด้านบนมือขวาไว้ด้านล่าง) ซึ่งสันนิษฐานว่าคนส่วนใหญ่ถนัดมือขวามากกว่ามือซ้าย

วิธีจับขลุ่ยเพียงออ
 
        มือบนจับเลาขลุ่ย ๓ รูด้วยนิ้วชี้ นิ้วกลางและนิ้วนาง อยู่ในลักษณะที่พร้อมจะปิด-เปิดรูบังคับเสียง (ซึ่งอยู่ด้านบนของเลาขลุ่ย) เรียงลงมาตามลำดับตั้งแต่รูที่อยู่บนสุดถึงรูที่สาม นิ้วหัวแม่มือปิดรูค้ำด้านหลังไว้ พร้อมทั้งใช้นิ้วก้อยประคองด้านล่างของเลาขลุ่ยไว้มือล่างจับเลาขลุ่ยส่วนล่าง ๔ รู ด้วยนิ้วชี้ นิ้วนาง นิ้วกลางและนิ้วก้อย เรียงลงมาตามลำดับนิ้วหัวแม่มือยันขลุ่ยด้านหลัง จับเลาขลุ่ยให้แขนส่วนปลายทั้งขวาและซ้ายได้ฉากกับเลาขลุ่ยพอประมาณ
โดยกางข้อศอกพองาม

ลักษณะการวางนิ้ว 

       ลักษณะการวางนิ้วของมือซ้ายและมือขวา ให้วางลักษณะขวางกับเลาขลุ่ยโดยนิ้วอยู่เหนือรูบังคับเสียงประมาณ ๑ เซนติเมตรและใช้นิ้วบริเวณผิวหนังส่วนที่นูนใต้ปลายนิ้ว เป็นส่วนที่ใช้ปิด-เปิดรูบังคับเสียง การวางนิ้วเพื่อปิดรูบังคับเสียง ต้องพยายามปิดรูให้สนิท มิฉะนั้นจะทำให้สียงขลุ่ยที่เป่าออกมา ดังผิดเพี้ยนโดยเฉพาะเสียงโด (ด)เป็นเสียงที่เป่ายากที่สุด

ตารางการปิดเปิดนิ้ว






เทคนิคของขลุ่ยเพียงออ

     การที่เราจะเป่าขลุ่ยให้ไพเราะนั้น ย่อมมีเทคนิคต่างๆกันเช่น การเปาให้มีเสียงสั่น เสียงเอื้อน เสียงรัว หรือมีเสียงควง ประกอบด้วยเป็นต้น การเป่าให้ได้เสียงที่กล่าวไว้นั้น ต้องอาศัยการหมั่นฝึกฝน โดยมีวิธีการหลายอย่างดังนี้
  1.การเป่าเสียงสั่น ต้องบังคับลมให้ออกมาเป็นช่วงๆ ให้ลมทยอยออกมาถี่ๆ หรือห่างๆตามต้องการที่จะทำให้เกิด เสียงคล้ายคลื่นตามอารมณ์ของเพลง
  2.การเป่าเสียงรัว หรือการพรมนิ้วทำได้โดยใช้นิ้วเปิดปิดสลับกันถี่ๆ ใช้สอดแทรกเพื่อให้เพลงเกิดความไพเราะมาก ยิ่งขึ้น
  3.การเป่าเสียงเอื้อน คือการใช้นิ้วค่อยๆเปิดบังคับลมให้เสียงขลุ่ยโรยจากหนักไปเบาหรือจากเบาไปหนักที่เสียงใดเสียงหนึ่ง
  4.เสียงโหยหวน หวน ใช้ลมและนิ้วบังคับเพื่อให้เสียงต่อเนื่องระหว่างสองเสียง เช่นเสียงคู่สาม คู่ห้า ซึ่งเป็นเสียงที่มีความ กลมกลืนกันมากเท่ากับเสียงโดกับเสียงซอล เป็นต้น
  5.การหยุด หรือ การชะงักลม การเป่าขลุ่ยบางจังหวะควรมีการหยุด การเบา การเน้นเสียงบ้าง เพื่อให้เพลงเกิด ความไพเราะมากขึ้น
  6.เสียงเลียน หรือ เสียงควง คือการทำเสียงโดยใช้นิ้วต่างกันแต่ได้เสียงเดียวกัน ใช้เมื่อทำนองเพลงช่วงนั้นยาว ทำได้โดยการเป่าเสียงตรงก่อน แล้วจึงเป่าเสียงเลียนและกลับมาเป่าเสียงตรงเมื่อหมดจังหวะการเป่าโดยใช้เสียงตรงและเสียงเลียนนี้จะทำให้เพลงเกิดความไพเราะได้อีกแบบหนึ่ง นอกจาก นี้ยังมีประโยชน์อย่างมากในการเลือกขลุ่ย เพราะขลุ่ยที่ดีเสียงตรงกับเสียงเลียนต้องเท่ากัน
ประการสุดท้ายผู้ฝึกหัดควรหาโอกาสฟังการเดี่ยวขลุ่ย หรือเสียงขลุ่ยที่บรรเลงในวงดนตรีไทย จากวิทยุ เทป หรืด ซีดี ให้มากๆ แล้วใช้ความสังเกต จากการฟังจดจำเอาแบบอย่างมาฝึกฝนให้เชี่ยวชาญต่อไป


























สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์
ดนตรีไทย โดย นพดล บุญศรัทธา อนุญาตให้ใช้ได้ตาม สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ Attribution-NonCommercial-NoDerivatives 4.0 International.